Future Mindset

สรุปวิธีคิดน่าสนใจจากหนังสือ Future Mindset

หนังสือ “Future Mindset เมื่อวิธีคิดที่คุณมี ใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้” โดยศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้กล่าวถึงวิธีคิดของเราในหลาย ๆ รูปแบบ ที่อาจจะไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน โดยได้เสนอ “วิธีคิด” ที่ให้เราสามารถนำมาปรับใช้กับหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิตในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในทุกวันนี้ โดยในบทความนี้ ได้สรุปวิธีคิดที่น่าสนใจจากหนังสือ “Future Mindset เมื่อวิธีคิดที่คุณมี ใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้”

Don’t follow your passion, follow your effort

หรืออย่าทำในสิ่งที่ตัวเองลุ่มหลง ให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี เพราะเมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะเก่งขึ้น และสุดท้ายเราก็จะชอบสิ่งนั้นไปในที่สุด การทำในสิ่งที่ตัวเองหลุ่มหลงเป็นสิ่งที่ดี หากแต่ว่าหลายครั้งการที่ทำตามความฝันหรือสิ่งที่ลุ่มหลง กลับกลายเป็นว่าเราได้ทำลายความฝันของตัวเองไป เพียงเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบและสนุกเวลาทำ แต่อาจจะไม่ได้อยากทำเป็นอาชีพ ดังนั้นเราควรคิดให้ชัดเจนว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ และหากต้องทำจริงจังเป็นอาชีพแล้วเรายังจะรักและอยากทำต่อหรือเปล่า

แก้ปัญหาสำคัญที่สุดก่อน ถ้าเอาทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไปแก้ปัญหาหลายอย่าง สุดท้ายมักจะแก้ไม่ได้สักอย่าง

คนสำเร็จไม่ใช่คนที่มีเวลาหรือทรัพยากรมากกว่าคนอื่น
แต่เป็นคนที่เลือกใช้เวลาและทรัพยากรไปอย่างถูกจุดมากกว่า

ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ – หนังสือ Future Mindset เมื่อวิธีคิดที่คุณมี ใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้

ยอมรับเสียแต่ตอนนี้ว่า “เราไม่สามารถเก่งได้ทุกเรื่อง” และ “เราไม่สามารถทำทุกเรื่องในระดับที่ดีที่สุดได้”

เหตุผลคือเพราะเรามีเวลาจำกัด วิธีคิดของคนที่ทำผลลัพธ์ได้มากโดยใช้เวลาน้อยคือ เราต้อง “เลือก” ทำในสิ่งที่สำคัญจริง ๆ และพัฒนาการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

ถามผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ได้พูดอะไรว่า “คุณเข้ามาทำไม”

ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้ยกคำพูดของ Elon Musk ที่มักถามอย่างตรงประเด็นกับผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ได้พูดอะไรว่า “คุณเข้ามาทำไม” เพราะมันเป็นการเสียทรัพยากรและไม่มีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอ 7 ข้อเพื่อให้การประชุมมีประสิทธิภาพ

  1. มีเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ
  2. มีหัวข้อประชุมชัดเจน เพราะจะได้ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ต้องการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รู้ด้วยว่าการประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับตนเองหรือไม่
  3. ตรงต่อเวลา
  4. เตรียมข้อมูลมาก่อน
  5. พูดให้อยู่ในประเด็น
  6. ประชุมเสร็จแล้วมีการลงมือทำ ควรต้องมีผลลัพธ์การประชุมให้ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไรอย่างไรต่อ
  7. อย่าใช้อารมณ์ เพราะนอกจากจะเสียเวลาและบรรยากาศแล้ว ยังทำให้การประชุมไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้

การใช้เวลากับเป้าหมายในชีวิตต้องสัมพันธ์กัน ถามตัวเองว่าคุณกำลังใช้เวลาเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่หรือเปล่า

ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้เสนอ 7 เทคนิคจัดการเวลาที่ได้ผลที่สุด เพื่อให้เรานำไปปรับใช้ ดังนี้

  1. ต้องเลือกงานที่จะทำ เพราะการทำหลายอย่างทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น สุดท้ายเราจะทำไม่สำเร็จและไม่ได้คุณภาพสักอย่าง วิธีคือการ “เลือกหรือกรอง” งานที่ควรทำ โดยใช้เป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้เป็นตัวกรอง และเลือกทำงานนั้นก่อนงานอื่น
  2. จัดลำดับความสำคัญ งานไหนสำคัญมากทำก่อน ส่วนงานไหนสำคัญน้อยกว่าทำทีหลัง
  3. เลือกเวลาในการทำงาน คนส่วนใหญ่เวลาที่สมองปลอดโปร่งและมี Willpower (พลังสมอง) ที่สุดคือ ช่วงเช้า ดังนั้นควรเลี่ยงที่ใช้เวลานี้ในการเช็กอีเมล์หรือเล่น Facebook แต่ให้เลือกนำงานที่มีความยากและซับซ้อนมาทำในช่วงนี้จะดีที่สุด
  4. ใช้ “เวลาว่าง” ให้เกิดประโยชน์
  5. เลือกทางที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายโดยใช้เวลาน้อยที่สุด โดยต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร และเลือกทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด
  6. แบ่งงานให้คนอื่นทำ เช่น การเขียนหนังสือสักเล่ม โดยเราเป็นคนเขียนเก่ง แต่ไม่ถนัดด้านการออกแบบปกหนังสือ การไปฝึกฝนพัฒนาทักษะด้านการออกแบบเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อาจจะใช้เวลาพอสมควร ทำให้งานเขียนของเราไปไม่ถึงไหน ดังนั้นเราควรโฟกัสกับงานที่เราเก่งและถนัด และแบ่งงานให้คนที่ถนัดด้านอื่นทำมากกว่า
  7. รู้จักปฏิเสธ งานที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเป้าหมายในชีวิต

เวลาเลือกทำอะไรสักอย่าง ถ้ามันมีโอกาสสำเร็จสูง และถ้าสำเร็จแล้วจะดีกับชีวิตคุณมาก อย่าปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไปเป็นอันขาด

แค่วางโทรศัพท์มือถือไว้ไกลตัว เวลาก็จะกลับคืนมามหาศาล

ลดคำว่า “จะ” ทำนู้นทำนี่ และลงมือทำเลย

คนที่ประสบความสำเร็จมักจะไม่พูดคำว่า “จะ” แต่จะคิดให้ดีและรอบคอบ และลงมือทำเลย โดยทำอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ

อย่าคิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่จูงใจพนนักงานได้ หลาย ๆ ครั้งมันอาจไม่ส่งผลอะไรเลย หรืออาจส่งผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

ให้หัวข้อนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้พูดถึงหลาย ๆ งานวิจัยที่สำรวจเกี่ยวกับแรงจูงใจ ซึ่งแต่ละงานวิจัยได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน นั่นคือการจูงใจด้วยรางวัลหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น ทริปเที่ยวต่างประเทศ หรือคูปองกินพิซซ่าฟรี เป็นต้น สามารถสร้างแรงจูงใจและส่งผลลัพธ์หลังจากนั้นได้ดีกว่าการสร้างแรงจูงใจด้วยเงิน

เนื่องจากการใช้ เงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจ จะทำให้ผู้รับรู้สึกว่าการทำสิ่ง ๆ นั้นเป็นเหมือนกับงานที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน อาจจะทำได้ดีในช่วงแรก แต่เมื่อบริษัทหยุดให้หรือพนักงานไม่ได้รับเงินเช่นเดิม มักจะส่งผลไปในทิศทางตรงกันข้าม ในทางกลับกัน การให้รางวัลที่ไม่ใช่เงิน มักช่วยให้เกิดความคุ้นเคยกันและรู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรได้ดีกว่า ดังนั้นอย่าคิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่จูงใจพนนักงานได้ ลองเปลี่ยนเป็นของรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินก็ไม่เสียหาย

ทุกอย่างเริ่มต้นจากความรู้ การทำธุรกิจก็เช่นกัน ถ้ายังไม่มีความรู้ก็ต้องเก็บเกี่ยวให้ได้มากพอก่อน แม้ว่าวิธีการที่ใช้จะห่างไกลจากภาพในฝันของเราก็ตาม

หลายคนรู้สึก “เบื่องานที่ตัวเองทำอยู่ และอยากจะออกมาทำธุรกิจ แต่ก็กลัวความเสี่ยง อีกทั้งยังมีภาระด้านการเงินและหนี้สิน” ในหัวข้อนี้ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้ให้วิธีคิดเพื่อนำไปปรับใช้คือ ให้เราถามตัวเองก่อนว่าเราเบื่ออะไรกันแน่ – เบื่อหัวหน้า เบื่อตัวงาน หรือเบื่ออย่างอื่น แล้วเราสามารถแก้ไขได้หรือไม่ การออกมาทำธุรกิจที่วาดฝันไว้จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า

แต่หากมั่นใจว่าต้องการออกจากงานจริง ๆ ให้ลองทำสิ่งนั้นในเวลาว่างก่อน อย่าเพิ่งออกจากงานประจำ โดยเริ่มจากการหาความรู้ ศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนั้น และอาจเริ่มลองทำโดยใช้เงินทุนที่น้อยก่อน เพราะนอกจากจะไม่เสี่ยงจากการทิ้งเงินเดือนประจำแล้ว ยังสร้างรายได้ให้เราเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากนั้นหากมั่นใจแล้วว่าสิ่งนั้นตอบโจทย์ชีวิตเราจริง ๆ และสามารถไปได้รอด ค่อยออกมาลุยต่อเต็มกำลัง

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากวิธีคิดทั้งหมดในหนังสือ “Future Mindset เมื่อวิธีคิดที่คุณมี ใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้” โดยศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ยังมีวิธีคิดที่น่าสนใจอีกมากมายให้คุณได้อ่านและนำไปปรับใช้ เช็กราคาหนังสือเพื่อซื้อมาอ่านเพิ่มเติม

เช็กราคาหนังสือ

อ่านบทความสรุปหนังสือ เพิ่มเติม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *